ที่มาของการทำสวนลิ้นจี่ของชาวอำเภอฝาง
วันที่ดำเนินการ : 01-01-2478    วันที่แก้ไขล่าสุด : 28-10-2556 01:59:27    ผู้เพิ่มข้อมูล : นางวาสนา ป้องพาล
แหล่งข้อมูล : เรื่อง “ลิ้นจี่” น. 73 ในหนังสือ “คุณหญิงช่วงเกษตรศิลปการ สำอาง โลจายะ; อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิง คุณหญิงช่วงเกษตรศิลปการ ต.ม., ต.จ.”  ต้นปี พ.ศ.2478 คุณนายสำอาง ภริยาพระช่วงฯ ได้นำลิ้นจี่สดประมาณ 2 ชั่ง จากกรุงเทพฯ ลิ้นจี่นั้นมีลักษณธผลกลมใหญ่ เปลือกสีแดงเข้ม รสชาติหวานกรอบ เมล็ดเล็ก เมื่อรับประทานแล้วจึงนำเมล็ดไปปลูกไว้ข้างบ้านได้ 20 ต้น ต่อมาเหลือเพียง 13 ต้น และคุณเชี่ยงคุน เจ้าของร้านเอเย่นต์ปูนซีเมนต์และเครื่องเหล็กและรับเหมาก่อสร้าง หลังสถานีรถไฟเชียงใหม่ ก็ได้นำต้นลิ้นจี่จากเมืองจีนมาให้อีก 20 ต้น คุณนายสำอางก็ได้แยกไว้คนละแห่งไม่ให้ใกล้กัน เมื่อติดตามพระช่วงฯซึ่งย้ายไปรับตำแหน่งผู้รั้งตำแหน่งอธิบดีกรมเกษตรฯ  ได้ขอร้องให้คุณมงคล งานวิสัย ให้ช่วยดูแลลิ้นจี่ทั้งสองพันธุ์นี้ ซึ่งคุณมงคลก็ได้ดูแลเป็นอย่างดี ต่อมา เมื่อพระช่วงฯ เป็นอธิบดีแล้ว ได้ไปเปิดกิ่งสถานีทดลองที่อำเภอฝาง คุณนายสำอางค์เห็นว่าที่อำเภอฝางอากาศเย็นใกล้เคียงกับตอนใต้ของประเทศจีนซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของลิ้นจี่ จึงได้ขอให้คุณมงคลช่วยย้ายลิ้นจี่ทั้งสองพันธุ์นี้ไปปลูกที่อำเภอฝาง ใน ปี พ.ศ.2489 คุณมงคลส่งผลลิ้นจี่จากเมืองฝางมาให้คุณนาย ชะลอมหนึ่งเป็นชนิดผลกลมใหญ่รสชาติหวานกรอบเมล็ดเล็ก เก็บจากต้นที่คุณนายปลูก ส่วนอีกชะลอมผลยาวรสชาติอมเปรี้ยว เก็บจากต้นที่คุณเชี่ยงคุนสั่งมาจากเมืองจีน คุณนายได้ขอให้คุณมงคลขยายพันธุ์ชนิดผลกลมใหญ่ให้ชาวบ้านที่ฝางปลูกเพื่อส่งเสริมให้เป็นอาชีพและช่วยให้อำเภอฝางมีชื่อเสียงต่อไป